หลังจากเห็นป้ายประชาสัมพันธ์แล้วในฐานะที่เคยทำงานที่จังหวัดศรีสะเกษ และเคยไปเที่ยวงานนี้ก็อยากแชร์ประสบการณ์ในการไปร่วมงาน แต่ก่อนอื่นขอให้สังเกตนางแบบในภาพที่ถือลูกทุเรียนสักหน่อย ผู้เขียนอยากรู้จังว่าเป็นใคร ทำไมถึงครองที่นั่งในป้ายประชาพันธ์ได้เกือบทุกปี กล่าวคือผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีการเปลี่ยนตัวนางแบบเลย งั้นเรามาดูป้ายย้อนหลังดูนะครับ
ป้ายปี 2555 (ข้อสังเกตไม่มีการถ่ายใหม่คัดลอกลงเลย)
ป้ายปี 2554
ทีนี้ขอเล่าประสบการณ์ในการไปเยี่ยมชมงาน ผู้เขียนเคยไปในปี 2554 และ 2555 ที่จริงงานนี้มีการทัวร์สวนผลไม้ “อร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน” ซึ่งผู้เขียนอยากร่วมเดินทางมากแต่เนื่องจากมีภาระในการทำงานทำให้ไม่ได้ไปร่วมทริปนี้ด้วย
ในปี 2554 ผู้เขียนไปร่วมงานนี้ซึ่งจัดที่สวนเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งชาวศรีสะเกษเรียกขานว่าเกาะกลางน้ำ ห้วยน้ำคำ บรรยากาศของสวนสวยงาม มีน้ำล้อมรอบ ปัจจุบันมีศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ มีทั้งปลาน้ำจืดและน้ำทะเล มีปลาช่อนอเมซอนตัวใหญ่มากๆ และอนาคตจะมีหอคอยชมเมืองคล้ายจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้าง
ในการจัดงานที่เกาะกลางน้ำ บรรยากาศการออกร้านก็เหมือนงานกาชาด หรือตลาดนัด แต่จะมีผลไม่เป็นตัวชูโรง ราคาก็ใช่ว่าจะถูกมาก ต่ำกว่าราคาท้องตลาดนิดหน่อย แต่ในการเที่ยวงานในปี 2554 มีผู้ร่วมงานชิมผลไม้โดยเฉพาะมังคุดแล้วทิ้งเปลือกลงพื้นและเดินเหยียบย่ำ ก่อให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ค่อยดี ไม่น่าเดินชมผลไม้
ในปี 2555 เปลี่ยนสถานที่จัดงานใหม่ซึ่งไปจัดที่ บริเวณสนามวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ รูปแบบการจัดงานก็เหมือนเดิมไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เหมือนตลาดนัด ผู้ผลิตพบผู้บริโภค สามารถเดินชิมได้เหมือนเดิม ราคาผลไม้ก็ไม่ได้ถูกกว่าท้องตลาดเท่าไหร่นัก
ผู้อ่านคงอยากทราบว่ารสชาติเป็นอย่างไร เท่าที่ผู้เขียนเคยอยู่ศรีสะเกษ รสชาติของเงาะศรีสะเกษจะไม่ฉ่ำเท่าที่อื่น ส่วนทุเรียนก็เช่นกัน แต่เนื่องจากผู้เขียนไม่ใช่นักชิมหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการชิม ก็บอกได้คำเดียวว่า อีสานโดยเฉพาะศรีสะเกษก็ปลูกเงาะ ทุเรียนที่มีรสชาติอร่อยได้เช่นกัน
ในปี 2556 ผู้เขียนคงไม่ได้ไปร่วมงาน เพราะไม่ได้ทำงานที่ศรีสะเกษ แต่ขอเชิญชวนท่านที่ว่างอยากไปร่วมงานก็ขอเชิญได้ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น