นายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสมุทปราการเขต 4
หลักการ
ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุม ทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554
เหตุผล
เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะที่สร้างความแตกแยกทางความคิดมี การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้แก่ชาติบ้านเมืองจนปัจจุบัน ด้วยสืบเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในความคิดที่ไม่เคารพในระบอบ ประชาธิปไตย มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู้การยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์นี้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมที่รุนแรงอย่างที่ไม่ เคยปรากฏมาก่อนทำให้เกิดการใช้บังคับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมสร้างความรู้สึก สับสนและไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในทางความคิดทางการเมืองของประชาชนเป็นวงกว้างจึงมี การชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนจนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง อันนำไปสู่การกล่าวหาและมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมาก ทำให้ถูกจำกัดเสรีภาพและอิสรภาพในระหว่างการถูกกล่าวหาทางอาญา อันเป็นผลมาจากภาครัฐได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดและขาดความ ยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวได้เกิดเป็นปัญหาร้าวลึกลงไปสู้สังคมไทยในทุกระดับและ นำมาซึ่งความหวั่นไหวขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขของ ประชาชนทั่วไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติทั้งทางด้าน ความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของประชาชน ซึ่งมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งในทาง การเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าวเพื่อเป็นการให้โอกาส แก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศและเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบ ประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจของการกระทำที่ประชาชนได้แสดงออกทางการเมือง เพื่อจะทำให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุขเรียบร้อยมีความสมัคร สมานสามัคคีร่วงแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่าง ยั่งยืนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
จากต้นฉบับมีการพิมพ์ผิด แต่ไม่เป็นไรให้อภัยเพราะถ้าประกาศบังคับใช้ฝ่ายพิมพ์คงมีการตรวจอีกรอบ แต่ที่น่าขำคือประโยคที่ว่า “การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย” อ่านแล้วเหมือนไม่ใช่คนเหมือนมะขามมากกว่า (ฮา)
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการ เมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …”
มาตรานี้ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะประชาชนเท่านั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกี่ยว
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
เป็นประเพณีของกฎหมายทุกฉบับจะบังคับใช้ได้ต้องได้รับการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
เป็นหนังสือรวบรวมคำประกาศของทางราชการ โดยเริ่มจัดพิมพ์ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระราชทานชื่อว่า “ราชกิจจานุเบกษา” แปลว่า “เป็นที่เพ่งดูราชกิจ” อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอาลักษณ์ ปัจจุบันมีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีซี่งเป็นหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่รับผิดชอบจัดพิมพ์
ราชกิจจานุเบกษามี 4 ประเภท ดังนี้
1. ประเภท ก ฉบับกฤษฎีกา เป็นประกาศเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา พระบรมราชโองการที่เป็นกฎ
ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ
หรือคำสั่งของหน่วยงานหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เป็นอนุบัญญัติ
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดและเรื่องที่ประชาชนทั่วไปควรได้รับทราบ
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คำพิพากษาของศาลปกครองอันถึงที่สุดให้เพิกถอนกฎ
ใช้อักษรย่อ ก ระบุไว้หลังเลขเรียงลำดับตอนที่ เช่น เล่ม 123 ตอนที่ 1 ก วันที่ 1
มกราคม 2549
2. ประเภท ข ฉบับทะเบียนฐานันดร
เป็นการประกาศเกี่ยวกับการสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ รายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
เหรียญราชการ หรือยศ รายชื่อผู้ถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือถูกถอดยศ
และรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือเหรียญตราต่างประเทศ
หมายกำหนดการ
พระราชพิธีต่างและข่าวในพระราชสำนัก
ใช้อักษรย่อ ข ระบุไว้หลังเลขเรียงลำดับตอนที่ เช่น เล่ม 123 ตอนที่ 1 ข วันที่ 1
มกราคม 2549
3. ประเภท ค ฉบับทะเบียนการค้า เป็นการประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน
บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด การเปลี่ยนแปลงและการเพิกถอนทางทะเบียน
ใช้อักษรย่อ ค ระบุไว้หลังเลขเรียงลำดับตอนที่ เช่น เล่ม 123 ตอนที่ 1 ค วันที่ 1
มกราคม 2549
4. ประเภท ง ฉบับประกาศและงานทั่วไป เป็นการประกาศเรื่องอื่นๆ
นอกเหนือจากที่ระบุในประเภท ก ประเภท ข และประเภท ค ใช้อักษรย่อ ง
ระบุไว้หลังเลขเรียงลำดับตอนที่ เช่น เล่ม 123 ตอนที่ 1 ง วันที่ 1 มกราคม 2549
ราชกิจจานุเบกษาแต่ละประเภท อาจกำหนดออกตอนพิเศษตามความจำเป็น เช่น
เล่ม 123 ตอนพิเศษ 1 ก วันที่ 1 มกราคม 2549
มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการ เมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและ ความรับผิดโดยสิ้นเชิง
การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว
มาตรานี้จะไม่จำกัดว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายนี้ แต่ให้รวมถึงบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมแต่ได้แสดงออกทางการเมือง เช่นการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีอื่น
และที่สำคัญบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว นั้นหมายถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐไล่ไปตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการปราบการจลาจล หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)เป็นต้น ไม่ได้รับประโยชน์จากร่างฉบับนี้
มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัติ นี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น
มาตรานี้เปรียบเสมือนว่ากลุ่มที่ทำผิดมิได้กระทำผิด ดังนั้นต้องปล่อยตัว และให้มีสิทธิ เสรีภาพ ดังบุคคลปกติ
มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญบัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น
มาตรานี้ตามร่างมีคำผิด พระราชบัญญัติ มิใช่พระราชบัญบัติ ซึ่งมาตรานี้ไม่สามารถนำผลประโยชน์ที่ได้ไปเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าชดเชย (แต่คณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อนุมัติงบประมาณเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง โดยเสียชีวิตได้ 7.75 ล้านบาท ส่วนบาดเจ็บก็ได้ลดหลั่นลงไป ตามความหนักเบา เช่นบาดเจ็บเล็กน้อย บาดเจ็บไม่สาหัส บาดเจ็บสาหัส เป็นต้น ฉะนั้นมาตรานี้คงกันไว้กลัวจะซ้ำซ้อนเพราะได้รับประโยชน์ไปแล้ว)
มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียก ร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย
มาตรานี้ระบุว่าไม่ตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ อ่านแล้วเข้าใจไหมครับว่ามาตรานี้ต้องการอะไร
มาตรา 5 ไม่ให้ผู้ได้รับนิรโทษกรรมเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น แต่มาตรา 6 กลับบอกว่าไม่ตัดสิทธิบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ
บุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ คือใคร?
ในการนิรโทษกรรมทางการเมืองนั้น แน่นอนว่าต้นเหตุคือการชุมนุมทางการเมือง ทีนี้การชุมนุมทางการเมืองจะมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่คือ
1. ผู้เข้าร่วมชุมนุม ในร่างฉบับนี้ ไม่ว่ากลุ่มเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดงที่มีความผิดจากเหตุชุมนุมต้องถูกล้างมลทิน แม้แต่คนไปชุมนุมแต่ได้เขียน หรือโฆษณาไม่ว่าโดยสื่อสิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต จนเป็นเหตุให้ได้รับผลกระทบก็ได้รับเว้นโทษให้(มาตรา 3 วรรคหนึ่ง) และกลุ่มนี้เมื่อได้รับนิรโทษกรรมแล้วไม่สามารถไปเรียกร้องได้อีกตามมาตรา 5
2. เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่ปราบปราม หรือระงับการชุมนุม กลุ่มนี้ตามร่างฉบับนี้ก็ไม่ให้ได้รับประโยชน์ มาตรา 3 วรรคสอง
3. ผู้ประกอบการในสถานที่ที่มีการชุมนุม ห้างร้านต่างๆ อย่าลืมว่าการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลือง ได้ปิดสนามบินทำให้สูญเสียรายได้วันละ 53 ล้านบาท และการชุมนุมของเสื้อแดงที่ใช้สถานที่ย่านราชประสงค์ค่าเสียหายไม่ต่ำกว่าวันละ20 ล้านบาท ค่าเสียหายโดยประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ในวันแตกหักมีการเผาห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฉะนั้นมาตรา 6 คงหมายถึงกลุ่มที่ 3 เพราะไม่ใช้องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ถ้าเกิดร่างฉบับนี้ผ่านแล้วเกิดฟ้องทางแพ่ง เงินภาษีราษฎรต้องกระเด็นไปหลายล้านครับพี่น้อง
มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายกรัฐมนตรี
ก็ต้องรอดูว่า สภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ได้พิจารณาร่าง
พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง
การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ... ฉบับของ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ และคณะ
เป็นวาระแรก ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่เพราะมีการจองกฐินของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ
กลุ่มเสนาธิการร่วม และร่างนี้จะเดินทางจนได้รับประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือไม่ต้องติดตามต่อไปครับ
ขอขอบคุณข้อมูลทั้งภาพและเนื้อหาจากสารนุกรมวิกิพีเดีย สถาบันพระปกเกล้า
และเวบไซต์วินัยและนิติการ สพป. ระยอง 1 อื่นๆ
ทางอินเทอร์เน็ต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น