วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อาสาฬหบูชาปีนี้ไปนมัสการพระพุทธบาทพระพุทธเจ้าสี่พระองค์

        เช้าวันที่ 22 กรกฎาคม 2556 ขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เชื่อว่าผู้ที่นับถือศาสนาพุทธจะต้องไปวัดทำบุญ ข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในชาวพุทธนั้น ซึ่งในปีนี้แฟนของข้าพเจ้าชวนไปจังหวัดสกลนครเพื่อสักการะพระธาตุเชิงชุม เมือสั่งมาแบบนั้นใครเล่าจะกล้าขัดผู้บังคับบัญชาในบ้านได้(ฮา) ว่าแล้วก็มอบตำแหน่ง พขร. (พนักงานขับรถ) ออกเดินทางเวลา 09.00 ไปเลยครับ
         หลังจากขับรถข้ามเขาภูพาน ด้วยหนทางคดเคี้ยวยังกะงู ถึงพระธาตุเชิงชุมเกือบเที่ยง ผู้โดยสารบางส่วนเมารถ บรรยากาศที่วัดคึกคัก มีนักเรียนมาทำกิจกรรมสวดมนต์ มีโรงทานด้วย (อิ่มท้องแน่คราวนี้)
         เมื่อถึงที่หมายก็หอบสังฆทาน เทียน และหลอดไฟเข้าไปยังวิหารที่ติดกับพระธาตุเชิงชุม มีพระหลายรูปรอต้อนรับ บ้างผูกฝ้ายที่ข้อมือ บ้างประพรมน้ำมนต์ เสร็จจากถวายสังฆทานก็ถือโอกาสเวียนเทียนตอนกลางวันรอบพระธาตุเชิงชุม ซึ่งประวัติของพระธาตุเชิงชุมมีดังนี้ (มีหนังสือประวัติพระธาตุ ประวัติพระสุวรรณแสน(หลวงพ่อองค์แสน แจกด้วย ขอคัดลอกประวัติ ดังนี้ครับ

           พระธาตุเชิงชุม ตั้งหันหน้าไปทางหนองหารที่อยู่ทางทิศตะวันออก เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงสี่เหลี่ยม สูง 24 เมตรเศษ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยม ไม่มีลวดลายประดับ ที่ฐานเจดีย์ มีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ซุ้มยอดประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาท ข้างในทึบสร้างด้วยศิลาแลง และหินทรายแดง มีซุ้มประตูหลอกแบบขอม ด้านทิศ เหนือ ใต้ และตะวันตก ซุ้มประตูทางเข้าจริงด้านทิศตะวันออกแต่แรกเริ่มพระธาตุเชิงชุมคงเป็นปราสาทหินทรายศิลปะสมัยขอม ภายในกรอบประตูทางเข้าอุโมงค์ด้านขวามือ มีจารึกพระธาตุเชิงชุมอักษรขอมโบราณ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ องค์พระธาตุในปัจจุบันเป็นศิลปะล้านช้าง เนื่องจากช่วงที่อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างแผ่เข้ามาบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และได้มีการบูรณะองค์พระธาตุขึ้นมาใหม่
            ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์ ได้เสด็จจากพระวิหารเชตวัน มาทางดินแดนทางทิศตะวันออก เพื่อโปรดสัตว์ เมื่อเสด็จตามลำแม่น้ำโขง ก็ได้ประทับรอยพระพุทธบาทมาตามลำดับ มีพระพุทธบาทบัวบก พระพุทธบาทโพนเพล พระพุทธบาทเวินปลา แล้วมาพักฉันภัตตาหารที่ภูกำพร้า อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนม จากนั้นได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าสุวรรณภิงคาระ และได้ประทับพระพุทธบาทที่ภูเขาน้ำลอดเชิงชุม รวมกับพระพุทธบาทของ อดีตพระพุทธเจ้าองค์ก่อนอีก 3 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าพระนามกกุสันธะ พระพุทธเจ้าพระนามโกนาคมะ และพระพุทธเจ้าพระนามกัสสปะ เมื่อพระเจ้าสุวรรณภิงคาระทรงทราบข่าว จึงได้เสด็จออกต้อนรับ พร้อมทั้งพระนางนารายณ์เจงเวงราชเทวี   พระพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์ให้พระเจ้าสุวรรณภิงคาระ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น จึงทรงแสดงปาฏิหารย์บันดาลให้มีดวงมณีรัตน์มีรัศมี พวยพุ่งออกจากพระโอษฐ์พร้อมกันสามดวง พระเจ้าสุวรรณภิงคาระทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ก็บังเกิดศรัทธา เปล่งวาจาสาธุการด้วยความปิติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า  ณ ที่นี้เป็นสถานที่อันอุดมประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ จะได้มาประชุมรอยพระพุทธบาทไว้ เพื่อเป็นที่สักการะแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย   พระเจ้าสุวรรณภิงคาระ บังเกิดความปิติโสมนัส จึงได้ถอดมงกุฎทองคำของพระองค์ สวมลงบูชารอยพระพุทธบาท แล้วทรงสร้างเจดีย์ครอบไว้ จึงได้ชื่อว่าพระธาตุเชิงชุมแต่นั้นมา   เนื่องจากเป็นที่ชุมนุมของพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์



       วิหารที่ติดกับพระธาตุเชิงชุมเป็นสถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อองค์แสน จะมีพระรอต้อนรับนักท่องเที่ยว ประพรมน้ำมนต์ ผูกสายสิญจ์

        ภายในพระธาตุเชิงชุม เชื่อว่าเป็นที่ชุมนุมของพระพุทธบาทพระพุทธเจ้า 4 พระองค์
            
                หลวงพ่อองค์แสน หรือสุวรรณแสน (สุวรรณ แปลว่าทอง แสนคือหน่วยวัดน้ำหนัก แสนเท่ากับ 120 กิโลกรัม สรุปพระพุทธรูปที่สร้างด้วยทองคำน้ำหนัก 120 กิโลกรัม)

           หลวงพ่อพระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ขัดสมาธิราบ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองหน้าตักกว้าง ๒ เมตร สูงจากฐานถึงพระเมาลี ๓.๒๐ เมตรประทับนั่งบนแท่นสูง๑.๓๕ เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศ ตะวันออก หันพระปฤศฎางค์เข้าหาองค์ หลวงพ่อพระองค์แสนเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนครคู่มากับพระ ธาตุเชิงชุม ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระวิหาร
            จากตำนาน หลวงพ่อพระองค์แสนสร้างขึ้นราวพุทธศักราช ๑๘๐๐ เพื่อแทนหลวงพ่อสุวรรณแสนองค์จริงที่เป็นทองคำทั้งองค์ (สร้างโดยพระเจ้า ชัยวรมันที่ ๓)คือในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เกิดศึกสงครามหลายครั้ง จึงย้ายเมืองไปอยู่ที่นครธม ก่อนย้ายได้นำพระสุวรรณแสน ทองคำไปซ่อนไว้ในน้ำ ไม่สามารถนำไปได้ด้วยเหตุว่ากลัวข้าศึกจะมาแย่งชิงในระหว่างทาง พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้สร้างหลวงพ่อ พระองค์แสน(องค์ปัจจุบัน)แทนไว้ให้ ทำด้วยหินเหล็กเส้นชนิดสี่เหลี่ยมเป็นโครง(ผูกลวด) แล้วฉาบด้วยทรายผสมปูนขาวแช่น้ำเปลือก ไม้(ยางบง) น้ำแช่หนัง - มะขาม - น้ำอ้อย และเถา ฝักกรูด ลงรักปิดทอง มีพุทธลักษณะเท่าเดิม ภายในก็บรรจุเครื่องราง ของขลังสมัยก่อนไว้มาก ให้นามว่า "หลวงพ่อพระองค์แสน" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ต่อมามีการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง


                                             บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ เชื่อว่าเป็นรูพญานาค
           บ่อน้ำศักดิ์สิทธิเป็นบ่อน้ำที่มีมาพร้อมองค์พระธาตุเชิงชุม เดิมมีน้ำพุผุดขึ้นมาเนื่องจากเป็นปลายทางของลำน้ำใต้ดินซึ่งไหลมาจากเทือกเขาภูพาน ผ่านศูนย์ราชการด้านทิศเหนือ ผ่านใจกลางเมืองข้างวัดเหนือ แล้วไหลมาผุดที่นี่ เรียกว่า "ภูน้ำซอด" หรือ "ภูน้ำลอด" แล้วไหลผ่านไปที่สระพังทอง ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ซึ่งอยู่ติดกับวัด เมื่อน้ำน้อยลงเรื่อยๆจึงได้มีการทำผนังกั้นไม่ให้ดินพังลงไป ในอดีตจะมีการนำน้ำจากบ่อน้ำที่นี่ไปประกอบพิธีเมื่อมีพิธีกรรมอันสำคัญต่างๆอีกด้วย
       มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อประชาชนมาตักน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้หากว่า คุถังตกลงไปแล้วให้ไปเก็บที่ "สระพังทอง"



                                 แต่ก่อนไม่ได้สร้างเป็นรูปพญานาค แต่เป็นเพิงมุงสังกะสี

           อย่างที่เคยเล่าไปแล้วว่ามาถึงพระธาตุเชิงชุมเกือบเที่ยง เมื่อเสร็จการถวายสังฆทาน นมัสการพระพุทธบาท ไหว้หลวงพ่อองค์แสน ดูบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ ก็ปาไปเที่ยงกว่า ลูกทัวร์เริ่มหิวข้าว หลังจากปรึกษาหารือแล้วมติในที่ประชุมเห็นว่าควรไปทานที่หนองหารจะได้บรรยากาศที่น่ารื่นรมย์

                                                 เมนูยอดฮิต ข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง


                                                              ปูเสื่อล้อมวงทานข้าว




                                              ทานข้าวไป ชมบรรยากาศหนองหารไปด้วย


        หลังจากอิ่มหนำสำราญมีแรงเดินทาง เป้าหมายต่อไปคือโค้งปิ้งงู แต่ก่อนที่จะถึงโค้งปิ้งงู มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ได้แวะคือพระตำหนักภูพาน เนื่องจากฝนตกพระตำหนักไม่เปิด
        โค้งปิ้งงูเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 213 (สกลนคร-กาฬสินธุ์) ช่วงที่ผ่านเขต อุทยานแห่งชาติภูพาน เส้นทางคดเคี้ยวเหมือนงู ดูรูปภาพแล้วเหมือนงูกำลังเลื้อยไหมครับ


พระเอกตรงโค้งปิ้งงู ใครมาตรงนี้จะต้องถ่ายภาพกับหลักกิโลเมตรตัวนี้
            หลักกิโลเมตรต้นตำหรับหลักกิโลเมตรที่ใหญ่ที่สุดในไทยคนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดต่างๆอาจเคยเห็นหลักกิโลเมตรขนาดใหญ่มโหฬารตั้งตระหง่านนอยู่ตามข้างทาง หรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดต่างๆ ซึ่งหลักกิโลเมตรขนาดยักษ์ที่เห็น ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นเองโดยหน่วยงานหรือภาคเอกชนของจังหวัดนั้นๆ เพื่อทำเป็นสัญลักษณ์ให้คนผ่านไปมาสะดุดตาและจดจำได้ แต่ เสาหลักกิโลเมตรที่เป็นของทางราชการกรมทางหลวงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
           โดยหลักกิโลเมตรที่เป็นของทางราชการกรมทางหลวงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ทางหลวงหมายเลข 213 ถนนจาก จ.กาฬสินธุ์ ไป จ.สกลนคร ที่เสาบอกว่าเป็นหลักกิโลเมตรที่ 21+750อยู่ห่างจาก จ.กาฬสินธุ์ 113 กิโลเมตร และห่างจาก จ.สกลนคร 15 กิโลเมตร ความสูงประมาณ 2.50 เมตร ถือเป็นอีกหนึ่งความอัศจรรย์ และจัดเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สุดในไทยที่คนไทยควรไปสัมผัสสักครั้ง
            ใกล้โค้งปิ้งงูมีน้ำตกชื่อน้ำตกคำหอม จะมีน้ำให้เล่นเฉพาะหน้าฝน ถ้าปลายเดือนธันวาคม น้ำจะเริ่มแห้ง
           
                                           มีน้ำให้เล่นครับ มีคนไปเที่ยวเยอะเหมือนกัน

        เป้าหมายต่อไปถ้ำเสรีไทย จากป้ายไปถึงตัวถ้ำเดินจนลิ้นห้อย ไกลพอดี เดินเกือบหนึ่งกิโลเมตร
          ถ้ำเสรีไทยเป็นแหล่งสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ไปต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีนายเตียง ศิริขันธ์ เป็นหัวหน้าขบวนการสาย ได้ใช้เป็นแหล่งสะสมอาวุธ และเสบียง เพราะเป็นทำเลที่เหมาะสม ปกปิดด้วยป่าไม้ที่เขียวชอุ่ม และบริเวณเดียวกันมีร่องรอยการขุดแต่งเป็นสนามบินลับด้วย มีลำธารไว้อาบและใช้ดื่ม




                                               ภายในถ้ำมืด น่ากลัว ไม่กล้าเข้าไปข้างใน
             เป้าหมายต่อไป ผานางเมิน อยู่ภายในที่่ทำการอุทยานแห่งชาติภูพาน ทางสะดวก รถสามารถขับไปถึงหน้าผาได้

 
                          ผานางเมินเป็นจุดชมวิวและพระอาทิตย์ตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของสกลนคร
ตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูพานอ.ภูพาน จ.สกลนครห่างจากตัวอุทยานประมาณ 700 เมตรซึ่งอุทยานแห่งชาติภูพานนี้


        ข้างล่างหน้าผามีพลาญหินเรียกว่าลานสาวเอ้ ประมาณเดือนธันวาคมจะมีดอกหญ้าสวยงาม
          ตำนานเรื่องมีอยู่ว่ามีชายหนุ่มบ้านคำเพิ่มมาพบรักกับหญิงสาวบ้านเนินสะอาดทั้งสองรักกันมากจนกระทั่งหญิงสาวได้พบกับชายหนุ่มคนใหม่จึงนัดพ่อหนุ่มบ้านคำเพิ่มมาบอกเลิกแม้ว่าชายหนุ่มจะอ้อนวอนเธออย่างไรเธอก็ไม่หันกลับเหลียวแลชายหนุ่มจึงเขียนจดหมายบอกลาและตัดสินใจกระโดดลงหน้าผา
         จุดสุดท้ายในการเดินทางครั้งนี้ ก่อนที่จะลงจากภูพานมีสถานที่สำคัญคือ ผาเสวย

         ในปี พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จผ่าน และเสวยพระกระยาหารกลางวัน จึงเรียกที่ประทับนั้นว่า “ผาเสวย
           เดิมชาวบ้านเรียกว่า “ผารังแร้งลักษณะตั้งอยู่บนเหวลึก หน้าผาสูงชัน ชาวบ้านเรียกว่า “เหวหำหด” บนหน้าผาเสวยสามารถชมทัศนียภาพและเป็นที่พักผ่อนได้เป็นอย่างดี
           แต่จากที่ผู้เขียนสังเกตเห็นเพิงพักผุผัง มีแต่ขี้วัว ผาที่จะชมวิวก็รก ไม่สามารถไปชมวิวได้ สภาพโดยรอบมีน่าสนใจแค่รูปปั้นไดโนเสาร์เท่านั้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น